สมัยก่อนคนอเมริกันกับคนฝรั่งเศสเคยเถียงกันว่า ใครกันหนอที่เป็นคนทำให้เสื้อยืดแพร่หลาย ฝั่งอเมริกันก็บอกว่าเขานี่แหละที่ทำให้เสื้อยืดเป็นที่รู้จัก เพราะอุตสาหกรรมหนังและเพลง แต่ฝรั่งเศสก็บอกว่าเขาต่างหากที่เป็นต้นไอเดียเสื้อชั้นในของผู้ชายที่ทหารจีไอเอาไปเลียนแบบ จนกลายมาเป็นเสื้อยืดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเถียงกันอย่างไรคงไม่มีใครมานั่งสนใจว่าใครจะเป็นคนคิดก่อน เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มีและใส่เสื้อยืดกันทั้งนั้น
ขายส่งเสื้อยืด เสื้อยืดผู้ชาย เสื้อโฆษณา เสื้อยืดคอกลม
เสื้อยืดเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงกว้างจริงๆ นั้น มาจากวัฒนธรรมของอเมริกันโดยแท้ ในยุคทศวรรษ 1950 เริ่มมีการใส่เสื้อยืดกันเดินตามท้องถนน หนังเรื่อง Street Car Name Desire นำแสดงโดยมาร์ลอน แบรนโดที่ออกฉายในปี 1951 และ Rebel Without a Cause นำแสดงโดยเจมส์ ดีน ในปีค.ศ.1955 ตอกย้ำภาพของคนรุ่นใหม่กับเสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนส์รัดรูปเปรี๊ยะ ทำเอาใครต่อใครแต่งตัวเลียนแบบดารากันเป็นแถว
แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี เสื้อยืดก็ยังเป็นแฟชั่นที่ดูไม่สุภาพ “โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเสื้อยืดก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถใส่ได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะมีคอวี มีปกหรือคอกลมก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าใส่ไม่ได้ บางงานหากไม่ต้องการอะไรที่เป็นทางการมาก เสื้อยืดแฟชั่นทับด้วยเบลเซอร์สักตัว ก็ดูดีได้” อภิวัฒน์ ยศประพันธ์ สไตลิสท์ของนิตยสารแพรวบอกกับเราอย่างนั้น แถมกำชับว่า เสื้อยืดแม้ว่าจะสะดวกสบายสวมใส่ง่าย แต่ก็ ‘ไม่ควรจะง่ายทุกโอกาส’
ยุคเริ่มแรกของการเกิดทีเชิ้ตคงไม่แตกต่างจากหนังมากนัก ในแง่ที่ว่า เสื้อยืดเป็นตัวแทนของการต่อต้านสังคม ความรู้สึกของ ‘ความไม่สุภาพ’ ของเสื้อยืดนั้นก็ยังติดตัวมันอยู่จนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญเสื้อยืดสามารถสะท้อนความคิดและบุคลิกของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี
“ถามว่าเราดูคนจากรองเท้าที่ใส่ได้ไหม ก็ได้ครับ แต่ว่าเสื้อยืดราคาถูกกว่าหาซื้อง่ายกว่า ฉะนั้นผมเชื่อว่า ถ้าเราอยากจะรู้จักวัยรุ่นสักคนในสมัยนี้ ต้องดูที่เสื้อยืดที่เขาใส่ ดูคำดูรูปที่อยู่บนเสื้อ เราก็จะรู้ได้ประมาณหนึ่งว่าเขาเป็นคนอย่างไร” ป๋าเต็ดหรือยุทธนา บุญอ้อม ผู้ริเริ่มจัดมหกรรมเสื้อในบ้านเรา ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่สาม
“ผมเคยนำเสื้อของศิลปินอย่างคุณวสันต์ สิทธิเขต มาจัดแสดงในงานทีเชิ้ต เฟสติวัลของเราในครั้งแรก เขาจะทำเสื้อยืดขึ้นมาใหม่ทุกครั้งที่เขาเข้าร่วมประท้วงในเหตุการณ์ต่างๆ พอเราเอามารวมกันในที่เดียว พบว่ามันเป็นภาพสะท้อนความคิดที่ดีมากของคนๆ หนึ่ง ที่ต้องการสื่อความคิดของตัวเองได้ดีมาก”
เสื้อเชิ้ตเป็นเหมือนผ้าใบสีขาวที่รอคนมาเติมสีแต่ดีกว่าตรงที่เราใส่มันไปไหนมาไหนได้ ในยุคทศวรรษ 1960-1970 ยุคที่ดนตรีร็อคทรงอิทธิพลอย่างมาก วงดนตรีต่างๆ นำเอาเสื้อยืดมาสกรีนลาย ขายเป็นของที่ระลึกยามที่ออกทัวร์คอนเสิร์ต หรือใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งหน้าที่ระหว่างคนดูกับทีมงานอย่างได้ผล เสียดายที่ไม่มีการจดบันทึกไว้ว่าใครเป็นคนริเริ่มทำ
หลายๆ วงขายเสื้อยืดได้พอๆ กับยอดขายไปแล้วครับ อย่าง The Beatles หากว่านับเอาจำนวนเสื้อที่เขาขายได้ทั้งหมด ทั้งละเมิดลิขสิทธิ์และถูกกฎหมายแล้วล่ะก็ เผลอๆ ยอดขายอาจไม่ได้น้อยไปกว่ายอดอัลบั้มที่พวกเขาสามารถขายได้
ยุคแรกๆ ของทีเชิ้ตที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการดนตรี ส่วนมากเป็นเสื้อของวงร็อคเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เดอะ โรลลิ่งสโตน (The Rolling Stone) เลด เซปลิน (Led Zeplin) บ๊อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) จิมมี่ เฮ็นดริกซ์ (Jimmy Hendrix) ทีเชิ้ตสกรีนลายสัญลักษณ์ของวงบางวง กลายเป็นลายคลาสสิคที่ดีไซเนอร์หลายคนหยิบจับมาใช้จนทุกคนจำได้ ไม่ว่าจะเป็นลายปากแลบลิ้นของ เดอะ โรลลิ่งสโตน หรือว่ามงกุฎและลายธงชาติอังกฤษที่เรามักเห็นคู่กับวงเดอะเซ็กซ์ พิสทอลและวิเวียน เวสต์วู้ด (Vivienne Westwood)
ว่าไปแล้วเธอก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการผสมผสานระหว่างแฟชั่นและดนตรีเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ยุคแรก การเปลี่ยนชื่อร้านของเธอจาก ‘Let it Rock’ มาเป็น ‘Too Fast to Live Too young to Die’ สะท้อนความคิดที่ได้รับมาจากฮิปปี้และดนตรีร็อคโดยตรง การเข้าไปมีส่วนสำคัญของการดังเป็นพลุแตกของเดอะเซ็ก พิสตอล ที่สามีของเธอขณะนั้น (มัลคอม แมคลาเรน-Malcom McLaren) เป็นผู้จัดการวง ทำให้ภาพลักษณ์ของวิเวียน เวสต์วู้ดไม่เคยหลุดอกจากความเป็นพังค์ที่กอดเกี่ยวกับดนตรีอย่างแยกไม่ออก
ดนตรีและแฟชั่นก็ไม่เคยห่างกัน บางครั้งดนตรีและนักดนตรีก็เป็นตัวกำหนดรูปแบบของแฟชั่นของแต่ละยุคแต่ละสมัยไปโดยปริยาย และทีเชิ้ตก็ไม่เคยหลุดเทรนด์ หลังๆ คุณคงเริ่มสังเกตว่าทีเชิ้ตไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่วงร็อคเท่านั้น ทีเชิ้ตรัดติ้วแบบที่ริกกี้ มาร์ตินใส่ก็ทำให้คนฮิตกันไปทั่ว หรือทีเชิ้ตสกรีนตัวหนังสือ ‘Britney Spear’ ที่แปะอยู่บนเสื้อของมาดอนน่า ทำเอาใครต่อใครต้องหามาใส่ เสื้อยืดเป็นตัวบอกรสนิยมอย่างจงใจ
หลังยุคทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เสื้อผ้ายี่ห้อดังต่างๆ เริ่มหันมาสนใจกับตลาดทีเชิ้ต แบบที่นิยมมากในยุคนั้นก็คือทีเชิ้ตสีขายสกรีนโลโก้ปะติดกลางหน้าอก คาลวิน ไคลน์ เป็นตลาดไฮแบรนด์เจ้าแรกๆ ที่ทำให้เกิดกระแสนี้จนกระทั่งลามไปถึงเจ้าอื่นๆ แต่ตอนนี่ทีเชิ้ตสุดฮิตในหมู่นักร้องและศิลปินของอเมริกาไม่มีทีเชิ้ตไหนเกิน anti-bush-t-shirt ที่ขายอยู่ในเว็บไซท์ www.bant-shirt.com ไปได้ เพราะก่อตั้งโดยจุดประสงค์เพื่อต้องการรณรงค์และต่อต้านความไม่ชอบธรรมของท่านผู้นำที่ปิดหูปิดตาประชาชน แล้วทำตัวเหมือนพระเจ้าที่ชี้นิ้วกำหนดทุกอย่าง ในเว็บไซท์นี้จึงมีเสื้อยืดต่อต้านการเมือง รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม และทีเชิ้ตส่งเสริมมนุษยชน
ใครเห็นแล้วอยากทำล้อเลียนผู้นำบางประเทศก็ไม่น่าจะผิดแต่ประการใด
บทความ โดย นิตยสาร GM ฉบับ June 2006